วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7565 ข่าวสดรายวัน
เปิดตัวยา'เดรโก'เพชฌฆาตไวรัส อยู่หมัดทั้งหวัดเล็ก-ใหญ่
การค้นพบยาปฏิชีวนะเพนิซิลลิน ในปี 2471 ที่นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพัฒนายาฆ่าเชื้อโรคร้ายที่
บุกรุกเข้ามาในร่างกายก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วย แม้เพนนิซิลลินจะไม่มีประสิทธิภาพรุนแรงต่อเชื้อโรคมากนักแต่มีข้อดีอยู่ที่การมีฤทธิ์ต่อเชื้อหลากหลายชนิด เรียกว่า 'บรอด สเป๊กตรัม' โดยที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พยายามพัฒนายาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์บรอด สเป๊กตรัม ชนิดใหม่ เพื่อทดแทนเพนนิซิลลิน ซึ่งนับวันจะมีเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คณะนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการลินคอล์น แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ในเมืองแคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาปฏิชีวนะ 'เดรโก' สำหรับปราบเชื้อไวรัส ซึ่งจากการทดสอบพบว่า สามารถฆ่าไวรัสได้ชะงัดอย่างน้อย 15 สายพันธุ์ อาทิ ไรโนไวรัส ก่อโรคหวัดทั่วไป อินฟลูเอ็นซาไวรัส สายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 หรือ ไข้หวัดหมู เชื้อไวรัสก่อโรคไข้หวัดลงกระเพาะ ไวรัสก่อโรคโปลิโอ ไวรัสก่อโรคไข้เลือดออกหลายสายพันธุ์ โดยยาดังกล่าวสามารถแบ่งแยกเซลล์ที่ติด และไม่ติดเชื้อไวรัสออกจากกันได้ และจะเข้าทำลาย เฉพาะเซลล์ที่ติดเชื้อ กลไกการทำงานของยา 'เดรโก' (DRACO) ใช้โปรตีนชนิดพิเศษ ที่สามารถจับกับสารพันธุกรรม ชนิดอาร์เอ็นเอสายคู่ หรือดีเอสอาร์เอ็นเอ ซึ่งปรากฏเฉพาะในไวรัสที่อยู่ระหว่างกระบวนการเพิ่มจำนวนภายในเซลล์เท่านั้น แต่ในมนุษย์ไม่มีดีเอสอาร์เอ็นเอ มีเพียงดีเอ็นเอสายคู่ หรือ ดีเอสดีเอ็นเอเท่านั้น โดยไวรัสเมื่อเข้าไปในเซลล์ได้แล้วจะลักลอบใช้กลไกภายในเซลล์ มาเพิ่มจำนวนให้ตัวเอง รวมทั้งขโมยเอาคุณสมบัติของสารพันธุกรรมและ เยื่อหุ้มเซลล์ไปพร้อมกันด้วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถตรวจพบไวรัสได้ยาก แม้เซลล์จะมีระบบป้องกันการลักลอบใช้กลไกภายในจากไวรัส แต่ไวรัสเองก็มีสารยับยั้งกระบวนการป้องกันนี้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้โปรตีนพิเศษในยา เดรโกจะเข้าไปจับกับดีเอสอาร์เอ็นเอของไวรัส และจะออกคำสั่งให้เซลล์นั้นทำลายตัวเองในทันที ผ่านกระบวนการ 'อพ็อปโตซิส' ซึ่งเกิดได้ตามธรรมชาติ เป็นการส่งสัญญาณให้เม็ดเลือดขาวประเภทลิมโฟซัยต์ ชนิดไซโตท็อกสิก-ที เซลล์ เข้าทำลายเซลล์อย่างปลอดภัยผลการทดสอบต่อเซลล์หนูและมนุษย์ที่ติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ พบว่า เดรโก มีความสามารถจัดการกับไวรัส 15 ชนิดที่ใช้ในการทดลองได้อย่างชนิดราพณาสูร และไม่เป็นพิษต่อหนูทดลองด้วย โดยทางคณะผู้วิจัยกำลังเตรียมจดสิทธิบัตรยาชนิดนี้ ก่อนจะนำไปทดลองกับสัตว์ใหญ่และมนุษย์ต่อไป
หน้า 28
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น